กมธ.วุฒิสภา ฟันธง พิธา ขาดคุณสมบัติ เร่งกกต. ส่งศาลรธน.ชี้ขาดก่อนวันโหวตนายก

 


กมธ.วุฒิสภา ฟันธง พิธา ขาดคุณสมบัติ เร่งกกต. ส่งศาลรธน.ชี้ขาดก่อนวันโหวตนายก
กมธ.วุฒิสภา ฟันธง พิธา ขาดคุณสมบัติ เร่งกกต. ส่งศาลรธน.ชี้ขาดก่อนวันโหวตนายก
6 มิ.ย. 2566 เวลา 16:09 น.
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 สำนักข่าวดังรายงานว่า ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมกมธ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ โดยที่ประชุมเห็นว่า เรื่องนี้มีหลายคนไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่า นายพิธา มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นนายกฯต่อไปได้หรือไม่ กมธ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่มีผู้ไปร้องกับกกต.แล้ว และเห็นว่าต้องหาข้อยุติโดยเร็วเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธา ต้องทำให้ข้อยุติชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาอื่นที่จะตามมา และมีผลกระทบอีกจำนวนมาก



นายเสรี กล่าวต่อว่า ดังนั้น กมธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังกกต. เพื่อให้เร่งรัดตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา เนื่องจากสิ่งที่ได้ร้องเรียนกันนั้น กมธ.เห็นแล้วว่ามีมูล มีข้อเท็จจริงและมีหลักฐาน จึงต้องการให้กกต. เร่งรัดเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อความชัดเจนที่จะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุด การที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ชาด ก็จะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศและของคนหมู่มาก “หากรอไปจนถึงขั้นตอนของวุฒิสภาลงมติโหวตนายกฯ เกิดวุฒิสภาไม่เห็นชอบไม่ว่าด้วยประการใด ก็จะเกิดคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหา ไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงขอให้กกต.เร่งรัดรวบรวมหลักฐาน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไปก่อนจะถึงกำหนดวันเลือกนายกฯ” นายเสรี กล่าว

เมื่อถามว่าแสดงว่าที่ประชุมกมธ.เห็นว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติแล้วใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ถ้าดูตามหลักฐาน ข้อกฎหมาย และข้อบังคับของพรรคก้าวไกล มีมูลที่จะเห็นได้ว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติตั้งแต่เป็นสมาชิกพรรค ตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้ง และถ้าขาดคุณสมบัติรับเลือกตั้ง ก็มีผลกับการไปรับรองผู้สมัครได้พรรคให้ลงสมัครส.ส. ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลหลักฐานที่ปรากฎต่อสาธารณะชนอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ กกต.ต้องเร่งรัด แก้ปัญหาให้ปรากฏและให้ข้อยุติ และสรุปเนื้อหาทั้งหมดโดยเร็ว



หรือจะรับรองส.ส.ให้เสร็จโดยเร็ว และรีบส่งเรื่องเหล่านี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อหาข้อยุติได้ชัดเจน เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโอกาสที่บ้านเมืองจะเรียบร้อยมีสูง เพราะทุกคนยอมรับในกติกาของประเทศว่า เมื่อศาลตัดสินแล้วต้องเคารพในกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่ดีที่สุด ต่อข้อถามว่าแสดงว่าไม่จำเป็นต้องรอให้รับรองส.ส.ก่อน นายเสรี กล่าวว่า ถ้ามองในมุมข้อกฎหมาย สมาชิกภาพของส.ส.นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมีสมาชิกภาพแล้ว น่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ เพียงแต่อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะกกต.ยังไม่รับรอง จึงมีประเด็นว่ากกต.ควรจะรับรองก่อนแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อตัดประเด็นปัญหาไประดับหนึ่ง

เมื่อถามว่าการที่กมธ.ระบุว่า นายพิธาอาจขาดคุณสมบัติ จะมีปัญหาต่อการโหวตเป็นนายกฯหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า การเสนอตัวเป็นนายกฯ ถือว่าเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับการเป็นส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ ตั้งแต่การเป็นสมาชิก สมัครรับเลือกตั้ง การเสนอชื่อเป็นนายกฯ ฉะนั้นในรัฐธรรมนูญและในข้อบังคับพรรคก้าวไกล ได้บัญญัติในเรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกัน ส่วนที่มีข่าวว่านายพิธา ขายหุ้นไปแล้วจะมีผลหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่ว่าจะโอนหุ้นด้วยวิธีไหน

ต้องดูว่าเขาโอนช่วงไหน ถ้าโอนช่วงนี้ก็ไม่มีผล เพราะการที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯได้หรือไม่ เริ่มตั้งแต่ตอนที่เสนอชื่อในบัญชีพรรคการเมือง “ถ้าถือหุ้นตั้งแต่เสนอชื่อในบัญชี และส่งให้กกต. ถือว่ามีผลในทางกฎหมายแล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ นายพิธาจะมาขายหรือโอนหุ้นในตอนนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงตรงนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้านายพิธาโอนหุ้นไปก่อนหน้านี้แล้วมาสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ได้ไปรับรองใคร แล้วถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯในช่วงนี้ แล้วไปถอนหุ้นออกก่อน ก็ยังมีผลทางข้อกฎหมาย เพราะการเสนอชื่อในบัญชีไม่ได้มีผลตอนที่สภาจะลงมติ แต่มีผลตั้งแต่เสนอชื่อ ดังนั้น หากมาขายหุ้นตอนนี้ก็ไม่มีผลอะไร นายเสรี กล่าว